AC127 : https://ac127.wordpress.com/

คุณยุ้ย – อัมพิกา (หาญพานิช) ศิริสุวัฒน์

Organic Farming ทางเลือกที่น่ารอด

 

S__3506187

Organic Farming ทางเลือกที่น่ารอด

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้การเข้าถึงความรู้และแบ่งปันข่าวสารเป็นไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นอย่างการเลือกบริโภคอาหารต่างๆ เส้นทางสายพานของอาหารจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำซึ่งเต็มไปด้วยกระบวนการซับซ้อนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนับไม่ถ้วน จึงกำลังได้รับการเปลี่ยนแปลงและเปิดเผยสู่สาธารณชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่การปฏิวัติอาหารเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารกลายเป็นสิ่งที่ถูกเอ่ยถึงในทุกแวดวง ผู้บริโภคซึ่งมีความรู้และเทคโนโลยีพร้อมสรรพเริ่มมีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดมากขึ้น และก็เป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ผลิตยุคใหม่ที่ยึดแนวทางเกษตรวิถีธรรมชาติ มีความรอบรู้ รู้จักปรับตัวให้สามารถอยู่รอดทางธุรกิจ และสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยความรู้บนความโปร่งใส

การมาถึงของยุคเกษตรอินทรีย์
เมื่อการใช้สารเคมี การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการดัดแปลงพันธุกรรม ไม่ใช่คำตอบของผู้บริโภคช่างเลือกยุคใหม่อีกต่อไป การเพาะปลูกและกรรมวิธีการผลิตอาหารด้วยวิถีธรรมชาติจึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่ตลาดหันมาให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ความนิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์ในผู้บริโภคชาวยุโรปโดยเฉพาะผัก ผลไม้ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์และขนมปัง ก็มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต แม้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปในตลาดและกำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจซบเซาก็ตาม

ด้านเกษตรอินทรีย์ในไทยเองแม้ว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยในปี 2012 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ แต่ก็เริ่มมีการฟื้นตัวในปี 2013 ซึ่งเกิดจากปัจจัยตลาดในต่างประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งออกผลิตเหล่านี้สู่ตลาดต่างแดน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน
จากการสำรวจข้อมูลของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ กรีนเนท พบว่า พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 213,183.68 ไร่ เช่นเดียวกับจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 9,281 ฟาร์มในปี 2013 จาก 7,189 ฟาร์มในปี 2012 ขณะที่ยอดมูลค่าการส่งออกของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศยังเติบโตอยู่ที่ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่การันตีถึงความสามารถในการเติบโตของตลาดนี้ได้อย่างดี

S__3506187

การปรับตัวของเกษตรกรต้นแบบออร์แกนิก
เมื่อสำรวจลงไปในระดับผู้ประกอบการถึงการปรับตัวเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ธุรกิจตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องราวของกานต์ ฤทธิ์ขจร และภรรยา อโณทัย ก้องวัฒนา ที่คิดจะเปิดร้านอาหารมังสวิรัติของตนเองเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

หลังจากที่อโณทัยสำเร็จการศึกษาจากสถาบันสอนทำอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ ประเทศอังกฤษ และเห็นกระแสความตื่นตัวเรื่องอาหารออร์แกนิกในกลุ่มผู้บริโภคยุโรป จึงพยายามสรรหาพืชผักที่ปลูกด้วยวิธีออร์แกนิกมาเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร แต่เพราะผลผลิตในตลาดไทยขณะนั้นส่วนใหญ่มีเพียงผักปลอดสารพิษซึ่งยังใช้สารเคมีในขั้นตอนการปลูก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ไร่ปลูกรัก” ฟาร์มออร์แกนิกบนพื้นที่ 60 ไร่ในจังหวัดราชบุรี ที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจให้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบออร์แกนิกเพื่อส่งให้ร้านอาหาร “อโณทัย” ในกรุงเทพฯ และจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ

“หัวใจของเกษตรอินทรีย์ คือ ความเชื่อมโยง การทำฟาร์มออร์แกนิกเราต้องมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่า ในดินต้องมีธาตุอาหารและสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ในอากาศต้องมีแมลงอะไรบ้าง พืชผักพืชไร่ต้องเชื่อมโยงกับสัตว์ต่างๆ อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องออกแบบให้สัมพันธ์กัน ถ้าไม่อย่างนั้นเมื่อระบบเดินไปแล้วก็จะทำให้ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือปุ๋ยเคมี ซึ่งถ้าเปรียบกับร่างกายก็เหมือนกับการที่เราไปซื้อยามาช่วยย่อยอาหาร ทั้งที่ร่างกายของเรากินอาหารได้เองอยู่แล้ว” กานต์ซึ่งรับหน้าที่บริหารจัดการไร่ปลูกรักมาตั้งแต่แรกเริ่ม เล่าให้ฟังถึงวงจรธรรมชาติภายในไร่ออร์แกนิกที่ทุกส่วนต้องสอดคล้องกัน
นอกจากนี้ เขายังอ้างอิงการศึกษางานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวที่แนะนำเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่พึ่งพาอาศัยกันได้เป็นอย่างดีภายในฟาร์ม เช่น การเลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) ฝูงใหญ่เพื่อเก็บไข่ไปขายในแต่ละวัน และจะปล่อยลงไปเดินหาอาหารในทุ่งนาทุกวัน เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำและเพิ่มการดูดซึมของฟอสฟอรัสไปในคราวเดียวกัน หรือการเลือกปลูกต้นไม้หลายชนิดกระจายตามส่วนต่างๆ ของไร่ ด้วยเหตุผลที่ว่าการปลูกพืชชนิดเดียวไว้ด้วยกันมากๆ จะทำให้ถูกแมลงรบกวนได้ง่าย เพราะจะเป็นพืชอาหารอยู่จุดเดียว เช่นเดียวกับหลักการพื้นฐานในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ต้องปลูกพืชแบบหมุนเวียน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตัดวงจรแมลง

1

เปิดฟาร์มสร้างรายได้รอบรั้วเกษตรอินทรีย์

แม้เกษตรอินทรีย์จะมีดีในระยะยาว แต่ก็มีจุดอ่อนที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่กล้าพอที่จะเปลี่ยนมาทำอย่างเต็มตัว เพราะต้องใช้เวลาในการปรับพื้นที่และสภาพแวดล้อม กำลังการผลิตต่อพื้นที่ต่ำกว่าการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน อีกทั้งสินค้าที่เป็นของสดนอกจากจะราคาสูงแล้ว ก็ยังเสียหายง่ายระหว่างการขนส่ง การเปิดฟาร์มให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรจึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจยอดนิยมของไร่ออร์แกนิกจำนวนมาก เพราะนอกจากจะได้กำไรจากการเก็บค่าเข้าชมแล้ว ยังเป็นการต่อยอดธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนมาก แต่สามารถดึงให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ และเวิร์กช็อปอบรมการทำฟาร์มออร์แกนิกภายในไร่ ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับตลาดอินทรีย์ของไทยที่ยังไม่เข้มแข็งเท่ายุโรปหรืออเมริกา ที่มีการปูพื้นฐานการใช้ตรารับรองและองค์ความรู้ของผู้บริโภคควบคู่กันมา

3

รู้รอบเพื่อรู้รอด

อีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการด้านสินค้าออร์แกนิกที่สร้างข้อแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการเรียนรู้กระบวนการทำออร์แกนิกอย่างครบวงจรจากการลงมือทำและเก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยตรงด้วยตัวเองก็คือ โช โอกะ (Sho Oga) อดีตประธานบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ที่ถูกส่งตัวเข้ามาประจำในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน
โช โอกะ สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาน้ำเสียในประเทศไทย หลังจากทำงานในบริษัทเป็นเวลาสิบกว่าปีและมีโอกาสได้ไปตรวจสอบโรงงานผลิตในบางปะกงและสาขาย่อยในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สงขลา หาดใหญ่ ฯลฯ เป็นประจำ เขาตัดสินใจลาออกด้วยวัย 43 ปี โดยนำเงินสะสมทั้งหมดของตนเอง รวมกับเงินที่ได้จากขายบ้านในญี่ปุ่น จากการหยิบยืมจากเพื่อน และกู้จากธนาคาร ก่อตั้งบริษัท ฮาร์โมนี ไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในปี 1999 และเริ่มต้นบุกเบิกฟาร์มออร์แกนิกในประเทศไทยบนที่ดิน 50 ไร่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากจะแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเขาสรุปได้ว่ามีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากบ้านเรือน การเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม

“การใช้จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญของการทำเกษตรออร์แกนิก เราไม่ใช้น้ำจากลำคลอง บ่อน้ำในไร่เป็นบ่อที่เราขุดขึ้นเองเพื่อใช้ในฟาร์ม ข้างๆ บ่อจะมีถังเพาะจุลินทรีย์เพื่อปล่อยลงบ่ออย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังใช้จุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินและช่วยให้พืชแข็งแรงทนทานต่อโรค ดินที่ดีต้องมีสารอาหาร ต้องมีจุลินทรีย์ที่ดีจำนวนมากซึ่งจะทำให้อุ้มน้ำได้และระบายน้ำดี ดินดี 1 กรัมจะมีจุลินทรีย์ทั้งดีและไม่ดี 4-8 ร้อยล้านตัว แต่การใช้สารเคมีจะทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในฟาร์มหมด” โอกะอธิบาย

แม้จะมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ แต่โอกะก็ไม่เคยทำฟาร์มมาก่อน ช่วงหกปีแรกของ “ฮาร์โมนี ไลฟ์ ออร์แกนิก ฟาร์ม”  จึงล้มลุกคลุกคลาน แม้ว่า…เทคนิคการเพาะจุลินทรีย์จะช่วยปรับสภาพให้ดินดีขึ้นมากก็ตาม แต่..ก็ยังพบปัญหาโรคและแมลงในพืชที่มีสาเหตุมาจากปุ๋ยมูลสัตว์ที่กินอาหารปรุงแต่งซึ่งเขาซื้อมาใช้ในฟาร์มในระยะแรก โอกะจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการซื้อวัวและไก่มาเลี้ยงเองโดยให้อาหารธรรมชาติเพื่อจะได้ปุ๋ยที่ดี และช่วยแก้ปัญหาเรื่องแมลงในพืชได้

นอกจากนี้ การทำการตลาดก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่โอกะต้องเผชิญ เพราะตลาดผู้บริโภคในขณะนั้นยังไม่รู้จักคำว่า “ออร์แกนิก” จึงไม่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้ กระทั่งห้างสรรพสินค้าอิเซตัน (Isetan) ติดต่อเข้ามาขอดูกระบวนการผลิตในไร่ จึงได้เริ่มรับผักผลไม้จากฟาร์มไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามมาด้วยวิลล่า มาร์เก็ต และฟูจิ ซุปเปอร์

ฮาร์โมนี ไลฟ์ จึงถือเป็นผู้ผลิตรุ่นบุกเบิกที่นำเสนอสินค้าออร์แกนิกในตลาด ขณะที่ก็เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่ไม่ได้มีเพียงผักผลไม้สด และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ใช้สารเคมี ด้วยการเปิด “ซัสเทน่า ออร์แกนิก ช็อป แอนด์ เรสเตอรองต์” (SUSTAINA Organic Shop & Restaurant) ขึ้นในซอยสุขุมวิท 39 เมื่อห้าปีก่อน “เราอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าออร์แกนิกไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตร แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมดรวมถึงการใช้ชีวิต ส่วนที่ต้องเปิดเป็นร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบในฟาร์มด้วยก็เพราะถ้าไม่ได้กินก็จะไม่รู้ว่าต่างจากผลผลิตอื่นๆ อย่างไร”

4

เมล็ดพันธุ์ที่งอกเงยเป็นกำไรในต่างแดน

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภคที่มีความเข้าใจและต้องการสินค้าออร์แกนิก เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ผลิต จากจุดเริ่มต้นในการปลูกผักออร์แกนิกพันธุ์โมโรเฮยะ (Jaw’s Mallow) ผักที่มีคุณค่าด้านสารอาหารสูง เมื่อนำมาสกัดเป็นผงผักจะมีรสจืด รับประทานได้ง่าย เหมาะจะนำมาผสมกับอาหารได้หลายชนิด  เมื่อพิจารณาถึงความนิยมในสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทย  โอกะจึงคิดว่าน่าจะนำผงผักมาผสมทำเป็นบะหมี่ผักที่ดีต่อสุขภาพได้ จึงลองผิดลองถูกด้วยตนเองจนได้เป็นบะหมี่ผักโมโรเฮยะ สินค้าสร้างรายได้สำคัญที่ช่วยให้ฮาร์โมนี ไลฟ์ ออร์แกนิก ฟาร์ม เติบโตและขยายธุรกิจไปได้อย่างมีศักยภาพ เพราะตั้งแต่ปี 2001 ที่ได้เริ่มจำหน่ายบะหมี่ผักให้ร้านสุกี้เอ็มเค (MK Suki) จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค  เมื่อเอ็มเคขยายสาขาไปทั่วประเทศ ก็ยิ่งทำให้ยอดขายของบะหมี่ผักสูงขึ้น  ก่อนที่ความนิยมนี้จะขยับขยายไปจำหน่ายที่ร้านอาหารอื่นๆ อย่างร้านฮอทพอท โคคาสุกี้ และเอสแอนด์พี ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2009 ทางบริษัทยังได้ส่งออกบะหมี่ผักนี้ไปวางจำหน่ายในต่างแดน ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา แม็กซิโก และฮาวาย ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Greenoodle” รวมทั้งสามารถจำหน่ายได้ในประเทศมุสลิม เพราะผ่านการรับรองเครื่องหมายฮาลาล นอกจากบะหมี่ผักที่กลายเป็นสินค้ายอดนิยมแล้ว บริษัทยังได้ร่วมมือทำธุรกิจสปาชื่อดังอย่าง “Asia Herb Associate” จนต่อยอดส่งออกสินค้าได้ในอีกหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสบู่อโรม่า อโรม่าบอดี้ออยล์ ลูกประคบสมุนไพร ชาสมุนไพร ไปจนถึงส่งออกน้ำหมักเอ็นไซม์ น้ำยาทำความสะอาดสูตรธรรมชาติให้แก่ประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น เป็นต้น

 

คน (ที่เป็น) กลาง
ไม่เพียงแค่ผลผลิตที่มีคุณภาพที่จะมีส่วนสำคัญทำให้ธุรกิจออร์แกนิกประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน แต่ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ยังต้องการการสนับสนุนจากคนกลางที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้การดำเนินธุรกิจสีเขียวนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนที่สุด

หนึ่งในการสนับสนุนนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่อย่างการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

อนุกูล ทรายเพชร คนรุ่นใหม่ที่กลับมาสืบทอดกิจการธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของครอบครัว ได้ก่อตั้งแบรนด์ folkrice และออกแบบแอพพลิเคชั่น forkrice เพื่อเป็นตัวกลางออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้ผู้บริโภคทั่วไปหรือร้านอาหารที่สนใจ ให้สั่งซื้อข้าวสารได้จากชาวนาโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือห้างโมเดิร์นเทรดซึ่งดึงส่วนแบ่งการขายของชาวนาไปกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ อนุกูลเผยว่า  เขาต้องการจะบริหาร forkrice ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม และจะเก็บส่วนแบ่งการขายจากชาวนาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยจะเก็บเป็นข้าว ไม่ใช่เงิน และจะหาทางนำข้าวเหล่านี้ไปขายต่อเองเพื่อหล่อเลี้ยงกิจการภายหลัง

หลังจากที่มีการสั่งซื้อผ่านแอพแล้ว ทีมงาน forkrice จะตรวจสอบจำนวนสต็อกข้าว และจับคู่ “คำสั่งซื้อ” กับ “ข้าวพร้อมขาย” เข้าด้วยกัน โดยผู้ซื้อจะต้องสั่งอย่างต่ำ 15 กิโลกรัมขึ้นไป และจะได้รับข้าวที่ดีในราคาถูกกว่าท้องตลาดจัดส่งให้ถึงบ้านภายใน 7-15 วัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเร็วๆ นี้

อีกด้านหนึ่ง เกษตรกรรายย่อยที่สนใจหันมาปลูกผลผลิตแบบออร์แกนิกก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างๆ โดยเฉพาะจากต่างประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนเรา ตัวอย่างความช่วยเหลือจากหน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง “LGT Venture Philanthropy” องค์กรเพื่อสังคมนานาชาติที่ได้จับมือกับ “Hilltribe Organics” เป็นหัวเรือใหญ่จัดการระบบและให้ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแบบออร์แกนิกแก่เกษตรกรชนกลุ่มน้อยในจังหวัดเชียงรายที่มีรายได้ต่อครอบครัวเพียงเดือนละประมาณ 5,000 บาท ให้หันมาทำฟาร์มไก่ออร์แกนิกที่ไม่ได้หมายถึงแค่ว่าทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ไก่บนดอยแห่งนี้ได้วิ่งเล่นอย่างมีความสุขแบบไม่มีการกักขังแต่อย่างใด  ไข่ไก่จากดอยที่ได้จึงเต็มไปด้วยคุณภาพและรสชาติที่เข้มข้นจากไข่แดงกลมโตแถมยังปราศจากสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลผลิตไข่ไก่คุณภาพสูงนี้จะถูกซื้อคืนจากองค์กรในราคาที่เป็นธรรม และส่งไปจำหน่ายยังร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมระดับห้าดาว และซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายอาหารออร์แกนิก ทำให้เกษตรกรเจ้าของไร่ชายขอบกว่า 145 ครอบครัวในเชียงรายแห่งนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว

 

ความเข้าใจที่สร้างความต้องการที่แท้จริง
ถึงแม้ว่าสินค้าออร์แกนิกจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้บริโภคที่ใส่ใจในแหล่งที่มาของอาหาร แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งการเข้าถึงที่ยังไม่ครอบคลุมถึงทุกกลุ่มผู้บริโภค ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ยังแข่งขันกับสินค้าทั่วไปได้ไม่ดีนัก ไปจนถึงการขาดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิก
ปัญหาเหล่านี้อาจแก้ไขได้ทั้งจากตัวผู้ผลิตเอง ที่ต้องพยายามมองหาช่องทางในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการผลิต คุณภาพของผลผลิต ไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่ายกว่าจะไปถึงมือผู้บริโภค เช่นที่ กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีนำเทคโนโลยีกำหนดพิกัดด้วยดาวเทียม (Global Positioning System/GPS) และระบบสารสนเทศ ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System/GIS) ในการพัฒนาและปรับปรุงในการผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และยังผลิตผลผลิตป้อนโรงงานได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสื่อสารถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลผลิตออร์แกนิคเหล่านี้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะเมื่อความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเหล่านี้ถูกกระจายออกไปในกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง อีกมากเท่าไร ย่อมหมายถึงอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นของภาคการเกษตรแบบอินทรีย์ เช่นที่ กานต์ ฤทธิ์ขจร อุปนายก คณะกรรมการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย (Thai Organic Trade Association) กล่าวว่า ปัจจุบันคำว่า “ออร์แกนิก” ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายทางการตลาด ความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแต่โตด้วยข้อมูลทางการตลาด ไม่ได้โตด้วยความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง

เรื่อง: ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ ภาพ: พิรานันท์ พาวงษ์ และ ภูริวัต บุญนัก

ที่มา : http://www.tcdc.or.th

ใส่ความเห็น

Information

This entry was posted on 10/03/2016 by in ลบทิ้งได้, เรื่องของสุขภาพ.

ตัวนำทาง

Enter your email address to follow this blog and receive notifications of new posts by email.

Join 101 other subscribers

สถิติบล็อก

  • 5,868,397 hits

หมวดหมู่

Enter your email address to follow this blog and receive notifications of new posts by email.

Join 101 other subscribers

สถิติบล็อก

  • 5,868,397 hits

หมวดหมู่

Enter your email address to follow this blog and receive notifications of new posts by email.

Join 101 other subscribers

สถิติบล็อก

  • 5,868,397 hits

หมวดหมู่